ทีเค พาร์ค ผนึก ไทยอิบบี้ จัดเวทีประชุมสภาหนังสือเด็กเอเชีย-โอเชียเนีย นำ 23 ประเทศร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านหนังสือเด็กและมิติการอ่านในยุคดิจิทัล
โลกยุคดิจิทัลได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนอย่างมากมาย รวมไปถึงหนังสือเด็ก ซึ่งปัจจุบันกลายร่างเข้าไปอยู่ในมือถือ คอมพิวเตอร์ และแทบเล็ตอย่างรวดเร็ว การอ่านมีความหมายแค่ไหนในยุคดิจิทัล นัยยะของการอ่านเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน เทรนด์การอ่านและการรู้หนังสือของเด็กในยุคสมัยใหม่เป็นอย่างไร หนังสือเด็กในยุคดิจิทัลควรเป็นอย่างไร และควรใช้อย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับเด็ก เพื่อหาคำตอบนี้...สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ร่วมกับ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก (ThaiBBY) ผนึกความร่วมมือจัดการประชุมสภาหนังสือเด็กและเยาวชนนานาชาติระดับภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียครั้งที่ 3 (The 3rd Asia Oceania Regional IBBY Congress)ระหว่างวันที่ 9-12 พฤษภาคม 2560 ณ โรงแรมอโนมาแกรนด์ กรุงเทพฯ และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 อาคารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีนักวิชาการ นักเขียน นักวาดภาพประกอบ ตัวแทนสำนักพิมพ์ บรรณารักษ์ และผู้เชี่ยวชาญจาก 23 ประเทศร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์ นำไปสู่ความก้าวหน้าและการพัฒนาหนังสือเด็กอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเรียนรู้วิธีการปรับตัวของหนังสือเด็กในโลกดิจิทัลของประเทศต่างๆ และส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านในชีวิตประจําวัน สอดคล้องกับแนวคิดหลักในการประชุมครั้งนี้คือ Read=Life: Reading in the Digital Age การอ่านเท่ากับชีวิต และการอ่านในยุคดิจิทัล
ดร.ทัศนัย วงษ์พิเศษกุล ที่ปรึกษาสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) กล่าวในพิธีเปิดการประชุมสภาหนังสือเด็กและเยาวชนนานาชาติ ระดับภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียครั้งที่ 3 ว่า เนื้อหาหลักของการจัดงานในครั้งนี้ ต้องการนำเสนอแนวคิด “การอ่านเท่ากับชีวิต” เพราะชีวิตของคนเราส่วนใหญ่เติบโตขึ้นมาได้จากการอ่าน โลกในปัจจุบันเป็นยุคของเทคโนโลยี ที่ทําให้เราสามารถอ่านได้ในหลากหลายรูปแบบ เหมือนกับโลกดิจิทัลได้สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับการอ่านและชีวิตเช่นกัน โดยการประชุมในครั้งนี้ได้นำเสนอหัวข้อที่น่าสนใจมากมายเกี่ยวกับโลกการอ่านของเด็กๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเรียนรู้ การเล่าเรื่อง การอ่านและการศึกษาผ่านหนังสือสำหรับเด็ก ความหลากหลายและวัฒนธรรม โดยเฉพาะวิถีชีวิตแบบใหม่และสื่อดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนการใช้เวลาของเด็กๆนั่นเป็นปัจจัยสำคัญเรื่อง "การเรียนรู้สื่อใหม่" สำหรับเด็ก ซึ่งเป็นหน้าที่ที่เราต้องสร้างความสมดุลระหว่างสื่อดิจิทัลกับหนังสือเด็กในรูปของสิ่งพิมพ์ เพื่อให้การอ่านหนังสือยังคงมีคุณค่าและความสำคัญต่อเด็กๆ และเยาวชนต่อไป
ด้านคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยาประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก (Thaibby) กล่าวว่า ประเทศไทยช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เน้นการพัฒนา e-books และรูปแบบต่างๆ ของแอพพลิเคชันแบบดิจิทัล ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพของเอกสารการอ่านและการเข้าถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษมากขึ้น เปลี่ยนห้องสมุดและร้านหนังสือเพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เด็กๆ สามารถรวม “การอ่าน” กับ “การเรียนรู้” แบบอื่นๆ ไว้รวมกัน สามารถเสริมสร้างความสามารถในการใช้ภาษาและกระตุ้นการพัฒนาสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็แสดงความห่วงใยใน พฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการดูแลเด็กมากเกินไป ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ThaiBBY ได้จัดมาตรการใหม่ๆ ในการจัดการกับผลกระทบที่เป็นอันตรายจากอิทธิพลของสื่อดิจิทัล เช่น การร่วมกับพันธมิตรหน่วยงานอื่นๆ รณรงค์และสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนผ่านสื่อทางสังคม การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้ปกครองและครู และการเปิดเผยผลการวิจัยและประเมินผลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการอ่านเพื่อการพัฒนาการของเด็ก
สำหรับการประชุมสภาหนังสือเด็กและเยาวชนนานาชาติระดับภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียครั้งที่ 3 (The 3rd Asia Oceania Regional IBBY Congress) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-12 พฤษภาคม 2560 ที่โรงแรมอโนมา แกรนด์กรุงเทพฯ และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 อาคารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ได้รับเกียรติจากวิทยากรจากหลากหลายประเทศทั่วโลก เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์อย่างน่าสนใจ อาทิ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ปาฐกถาเรื่อง “การอ่าน = ชีวิต: การอ่านในยุคดิจิทัล”, มร. วอลลี่ เดอ ดองค์เกอร์ (Mr. Wally de Doncker) ประธานสภาหนังสือเด็กและเยาวชนนานาชาติ เรื่อง“ทิศทางสภาหนังสือเด็กและเยาวชนในยุคดิจิทัล”, มร. ทาคาชิ คุโรดะ (Mr. Takaaki Kuroda) หัวหน้าบรรณาธิการและผู้จัดการทั่วไปสำนักพิมพ์ Gakken Plus ประเทศญี่ปุ่น ให้ทัศนะเรื่อง “พลิกโฉมหนังสือเรียนสำหรับเด็ก - เมื่อหนังสือผสานเทคโนโลยี”, อาจารย์สมบูรณ์ ศิงฆมานันท์ นักวิชาการด้านวรรณกรรมเด็ก ผู้เคยรับรางวัลจากสภาหนังสือเด็กและเยาวชนนานาชาติ เรื่อง “คืนสู่รากเหง้าและเรียนรู้กับหนังสือข้าวเพียงเมล็ดเดียว” และมร. โทมัส เมอริงตัน (Mr. Thomas Merrington) หัวหน้าฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์และผู้จัดการแบรนด์ ปีเตอร์แรบบิทประเทศอังกฤษ เรื่อง“ปลุกชีวิตตัวละครให้ดังข้ามศตวรรษ – กรณีศึกษาจากเรื่อง กระต่ายน้อยปีเตอร์ แรบบิท ของ บีทริกซ์ พ็อตเตอร์”
นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรม Workshop ที่น่าสนใจ อาทิ การเล่านิทานในยุคดิจิทัล โดย Keiko Harikae ผู้อำนวยการ และ Emiko Goeku บรรณารักษ์ จากห้องสมุดเด็กโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น, เรียนรู้การเย็บหนังสือผ้า โดย Mokomoko Group ผู้บุกเบิกหนังสือภาพที่ทำจากผ้าที่มีชื่อเสียงในประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 1979 โดยมีผลงานต้นแบบกว่า 260 ชิ้น กิจกรรมเวิร์กชอปนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิธีการจัดทำหนังสือภาพจากผ้าที่อ่านได้ง่ายสำหรับเด็กทุกคน รวมทั้งเด็กพิการด้วย, Mind Based Learning (MBL) เรียนด้วยจิต สร้างปัญญา พัฒนามนุษย์ โดย ดิสสกร กุนธร มูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา, เทคนิคการปลูกฝังความรักการอ่าน จากครูผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมและผู้เล่าเรื่องสำหรับเด็ก จากประเทศอาร์เจนตินา, ความมหัศจรรย์ของ “คามิชิไบ” (Kamishibai) โดยตัวแทนของสมาคมคามิชิไบนานาชาติ (IKAJA) แห่งประเทศญี่ปุ่น ที่ส่งเสริมการเล่านิทานประกอบภาพ หรือ “ละครกระดาษ” ภาพวาดเลื่อนเป็นฉากๆ เพื่อเล่าเรื่องราวต่างๆ เป็นต้น และพลาดไม่ได้กับนิทรรศการ “The Century of Children's Books in Thailand" ที่อ้างอิงจากวิทยานิพนธ์ของ อ.เกริก ยุ้นพันธ์ จากภาควิชาวรรณกรรมเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และนิทรรศการ "Local Knowledge Book Series" หนังสือภาพสื่อสาระท้องถิ่นสำหรับเยาวชน อันเป็นผลงานของทีเค พาร์ค ที่ถ่ายทอดความหลากหลายทางวัฒนธรรมของหนังสือภาพสำหรับเด็กจากทุกภูมิภาคของประเทศไทยโดยในส่วนของนิทรรศการนี้ ผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าชมได้ในระหว่างวันที่ 12-14 พฤษภาคม 2560 ที่สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) เซ็นทรัลเวิล์ด ชั้น 8
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น