กรุงเทพฯ 1 พฤษภาคม 2558 – สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) หรือ OKMD ชี้ช่องทางผู้ประกอบการ OTOP ไทย เร่งพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์กลุ่มของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึก บุกตลาดญี่ปุ่น หลังผลวิจัยแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ OTOP ของตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ พบประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการสินค้าในกลุ่มดังกล่าวสูงสุด โดยปี 2557 มีมูลค่าส่งออกสูงถึง 384.03 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท
นายศิริชัย เลิศศิริมิตร ประธานที่ปรึกษาสมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทย และของตกแต่งบ้าน และผู้เชี่ยวชาญ สำหรับงานวิจัยแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ OTOP ของตลาดในประเทศและต่างประเทศ OKMD เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาพรวมการส่งออกในกลุ่มของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึก ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างหนัก ส่งผลให้ยอดการสั่งซื้อในปัจจุบันหดตัวลงอย่างมาก โดยข้อมูลสำนักพัฒนาการค้าและธุรกิจไลฟ์สไตล์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ในปี 2557 สินค้าและผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน กลุ่มเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัว กลุ่มของขวัญ ของชำร่วยและของตกแต่งบ้าน และกลุ่มของเล่น มีมูลค่าการส่งออกทั่วโลกรวมกัน 2,572.57 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ลดลงจากยอดส่งออกในปี 2556 ราว 2 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านมาทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงไม่อาจนิ่งเฉยได้ โดยพยายามดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์การส่งออกให้ดีขึ้น ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ให้ได้มากที่สุด
แม้การเพิ่มยอดส่งออกถือเป็นเรื่องท้าท้ายที่ต้องเร่งดำเนินการ และจากผลการศึกษาแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ OTOP ของตลาดในประเทศและต่างประเทศโดย OKMD ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการไทยยังคงมีโอกาสในการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น หากสามารถพัฒนาปรับปรุงคุณภาพและดีไซน์ได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะตลาดในประเทศญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสุด เนื่องจากผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นให้การยอมรับสินค้าจากประเทศไทยค่อนข้างมาก เพราะชื่นชอบดีไซน์และเชื่อมั่นคุณภาพของสินค้า เมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่างประเทศจีนแม้ราคาจะถูกกว่า 3-5 เท่า ไม่เพียงเท่านั้นประเทศไทยยังได้รับการยอมรับในแง่ของการเป็นแหล่งต้นกำเนิดสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในท้องตลาด จากผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่นด้วย
ในปี 2557 พบว่า สินค้าและผลิตภัณฑ์กลุ่มเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน กลุ่มเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัว กลุ่มของขวัญ ของชำร่วยและของตกแต่งบ้าน และกลุ่มของเล่น มีมูลค่าการส่งออกไปขายยังประเทศญี่ปุ่นรวมกันสูงถึง 384.03 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท แม้จะเป็นยอดส่งออกที่ลดลงตามปัจจัยของภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่นในภาพรวม แต่ตลาดญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญที่หากผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์ข้างต้น ที่มีอยู่ทั่วประเทศไทยประมาณ 5,565 ราย ซึ่งส่วนใหญ่กว่า ร้อยละ 95 หรือ 5,200 ราย เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถพัฒนาสินค้าได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น ก็จะนำมาซึ่งยอดการส่งออกและรายได้ที่เพิ่มขึ้นในภาพรวม เนื่องจากผู้บริโภคในตลาดญี่ปุ่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ประมาณ ร้อยละ 30 ของประชากร มีกำลังซื้อสูงมาก โดยธนาคาร Mizuho Corporate Bank (MCB) ประเทศญี่ปุ่น คาดการณ์ว่าผู้สูงอายุจะใช้จ่ายเงิน 5 แสนล้านเยน ไปกับสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 27 นับตั้งแต่ปี 2550
หากเจาะลึกประเภทของสินค้าที่เป็นที่ต้องการและขายดี พบว่า ของใช้บนโต๊ะอาหารและในครัวเติบโตสูงขึ้น ร้อยละ 2 โดยสินค้าจากซิลิโคนได้รับความนิยมสูงมาก ในขณะที่เซรามิคก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ของใช้กระกระจุกกระจิกจากไทย ขายได้ในราคาที่ค่อนข้างสูงในตลาดระดับพรีเมียม เฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็กดีไซน์สวยงามจากไม้ยางพารา และเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ที่เน้นความหรูหราขายให้กับโรงแรมเปิดใหม่ โคมไฟก็ถือเป็นสินค้าที่แนวโน้มการเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับแนวทางการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP ให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่นนั้น เนื่องจากตลาดญี่ปุ่นมีผู้สูงอายุเป็นผู้ที่มีกำลังซื้อสูงสุด ดังนั้นการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ไปวางขายต้องตอบสนองความต้องการผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นหลัก เน้นไปที่สิ่งของที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิตประจำวัน แต่ต้องมีความประณีตและเน้นถึงความปลอดภัยในการใช้งาน มีเรื่องราวเล่าถึงความเป็นมาของผลิตภัณฑ์ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ที่ชาวญี่ปุ่นหลงใหลเป็นอย่างมาก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามเทรนด์โลกที่ผู้บริโภคหันมาให้ความใส่ใจด้านนี้มากขึ้น สุดท้ายคือราคาต้องสมเหตุสมไม่ถูกหรือแพงจนเกินไป ซึ่งสินค้าเหล่านี้จะถูกนำไปวางขายในห้าง Loft , Franc Franc , Tokyu hands , Takashimaya และ Ito yokado ซึ่งเน้นนำสินค้าไลฟ์สไตล์ดีไซน์สวยงามทันสมัยไปวางขาย โดยเป็นที่นิยมของชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก
นายศิริชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับกลยุทธ์สำคัญที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ประกอบการไทยควรเร่งดำเนินการ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าและชิงส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นนั้น แบ่งตามกลุ่มผลิตภัณฑ์ ดังนี้
· กลุ่มผลิตภัณฑ์กลุ่มเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ต้องสร้างภาพลักษณ์การเป็นศูนย์กลางตลาดส่งออกในเอเชีย โดยสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าโดยเน้นคุณภาพ ความประณีต รูปแบบที่โดดเด่น สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในตลาดเป้าหมาย
· กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัว ต้องไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์เจาะตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ โดยการศึกษารูปแบบและแนวโน้มความต้องการของตลาดอยู่เสมอ
· กลุ่มผลิตภัณฑ์ของขวัญ ของชำร่วยและของตกแต่งบ้าน ต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคนิคการผลิตและสร้างตราสินค้า เพื่อสร้างเอกลักษณ์และความแตกต่าง
· กลุ่มผลิตภัณฑ์ของเล่น ต้องเร่งสร้างแบรนด์ของเล่นไทยให้เป็นที่รู้จัก โดยเน้นไปที่การประชาสัมพันธ์ถึงคุณภาพที่สูงกว่าประเทศอื่น รวมทั้งพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น