ทีมผู้เชี่ยวชาญจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม เผยผลการตรวจปัสสาวะและเลือดล่าสุดของประชาชนพื้นที่รอบเหมืองทอง ชี้ แนวโน้มอัคราฯ ไม่ใช่ต้นเหตุของการเพิ่มสารแมงกานีสและสารหนูในชาวบ้าน
ทีมผู้เชี่ยวชาญซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักพิษวิทยาสิ่งแวดล้อมนานาชาติเผยข้อมูลใหม่ล่าสุด หลังสำรวจพื้นที่รวมทั้งการตรวจเลือดและปัสสาวะของประชาชน พร้อมทำวิจัยศึกษาพฤติกรรมการกินอยู่และกิจกรรมประกอบอาชีพประจำวันในเขตพื้นที่รอบเหมืองทอง ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ชี้การเพิ่มขึ้นของสารแมงกานีสและสารหนูในเลือดของประชาชนพื้นที่รอบเหมืองทอง มีแนวโน้มว่าสาเหตุไม่ได้เกิดจากกระบวนการทำเหมืองของอัคราฯ แต่ผลการวิจัยบ่งชี้แนวโน้มว่ามาจากพฤติกรรมการกินอยู่และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ นักวิชาการแนะควรมีการขยายการศึกษาไปทั่วประเทศเพราะหากผลวิจัยทั้งประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่ามีวิถีชีวิตความเป็นอยู่หรือ”วิถีชีวิตแบบเสี่ยงพิษและเคมี”เช่นนี้จะถือเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องแก้ไขเพื่อให้ความรู้กับประชาชนในด้านการกินอยู่และทำการเกษตรที่ปลอดภัย ด้านผู้บริหาร อัคราฯ ย้ำ กระบวนการทำเหมืองทองเป็นไปตามมาตรฐานโลกมีความปลอดภัยสูง ด้วยกระบวนการทำเหมืองทองที่ใช้เทคโนโลยี ซีโร่ ดิสชาร์ต (Zero Discharge Technology) แบบปิดล็อครอบด้านที่เกิดขึ้นในท่อ โอกาสรั่วซึม-ของสาร 0% พร้อมระบบการป้องกันการรั่วซึม 5 ชั้น หรือ Penta Locks Technology ประกาศพร้อมให้การช่วยเหลือชาวบ้านพื้นที่รอบเหมืองที่มีปัญหาด้านสุขภาพและจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อศึกษาหาถึงสาเหตุ การป้องกัน และแก้ไขปัญหา โดยมีตัวแทนจากทุกฝ่าย
ดร.วิชยุตม์ ทัพวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม (หนึ่งในคณะทำงาน)นำเสนอข้อมูลจากการศึกษาเบื้องต้นถึงสาเหตุที่มาของการเพิ่มขึ้นของระดับของแมงกานีสและสารหนู เปิดเผยถึงผลล่าสุดการสำรวจพื้นที่และการตรวจเลือดและปัสสาวะ พร้อมทำการศึกษาพฤติกรรมความเป็นอยู่ ของประชาชนพื้นที่รอบเหมืองทอง ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร จำนวน 435 ตัวอย่าง ที่มีความกังวลในเรื่องการเพิ่มขึ้นของระดับของแมงกานีส และ อาร์ซีนิก หรือ สารหนู ในเลือด พบแนวโน้มว่ากระบวนการทำเหมืองทองของ อัคราฯ ไม่ใช่ต้นเหตุของการเพิ่มขึ้นของสารดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้มีการใช้สารทั้ง 2 ชนิดในกระบวนการทำเหมืองแต่อย่างใด ส่วนการเพิ่มขึ้นของแมงกานีสและสารหนูในเลือดและปัสสาวะของประชาชนพื้นที่รอบเหมืองนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดย อาร์ซีนิก หรือ สารหนู เป็นสารที่
เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติและเป็นส่วนหนึ่งของดิน หิน ตะกอนดิน ปกติแล้วจะสามารถพบสารหนูเจือปนอยู่โดยทั่วไปในแหล่งน้ำและน้ำบาลดาลทั่วโลกโดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกเหนือจากที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติแล้ว มนุษย์อาจได้รับสารหนูเพิ่มได้จากการใช้ชีวิตประจำวัน การกินอยู่ และการประกอบอาชีพ เพราะ อาร์ซีนิก หรือ สารหนู มีอยู่ในยาฆ่าแมลง สารกำจัดวัชพืช ปุ๋ย ใบยาสูบ สมุนไพร ใบชา และอาหารทะเล
ส่วน แมงกานีส เป็นธาตุจำเป็นต่อร่างกายเช่นเดียวกับ สังกะสี และ ธาตุเหล็ก มีหน้าที่ช่วยให้การทำงานของเอ็นไซม์ต่างๆเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทั้งยังเป็นธาตุอาหารสำคัญที่คอยควบคุมให้เยื่อหุ้มเซลล์ในสิ่งมีชีวิตมีเสถียรภาพ มีความสำคัญในการสังเคราะห์ กรดนิวคลีอิค และ ไขมัน แมงกานีส พบได้ทั่วไปในเปลือกโลกและชั้นหินธรรมชาติ โดยเฉพาะชั้นหินแมงกานีสอ๊อกไซด์ (Mn oxide rocks) หินทรายอ็อกไซด์ (Mn silicate-oxide rocks) ดังนั้น แมงกานีส จึงพบอยู่ในน้ำบาดาลทั่วไป นอกจากนี้ยังพบ แมงกานีสได้ในโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าหลายชนิด อาทิ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าเชื้อรา น้ำมันรถยนต์ แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย รวมถึงในการสันดาปของน้ำมันรถยนต์ และยังพบในอาหารทั่วไปในกลุ่มที่มาจากอาหารเช่นน้ำปลา กะปิ เมล็ดพืช ผักใบเขียว และชา
การศึกษาวิจัยแบบบูรณาการครั้งนี้ เป็นการศึกษาปริมาณการเพิ่มขึ้นของระดับแมงกานิสในเลือด และ อาร์ซีนิก หรือ สารหนู ในปัสสาวะ ของประชาชนพื้นที่รอบเหมืองทอง บ่งชี้แนวโน้มว่า ไม่ได้มาจากเหมืองทองอัคราแต่อาจมาจากพฤติกรรมการกินอยู่และการใช้ชีวิตประจำวัน ที่มีการกินอาหารจากทะเลทั้งลักษณะแปรรูป และไม่แปรรูป เช่นกะปิ น้ำปลา ขนมอบกรอบที่ทำจากสาหร่าย และอาหารทะเล ปลาเค็ม ปลาทู เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทางคณะผู้ทำงานแนะให้ขยายผลการศึกษาไปในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยด้วย เพราะหากผลการวิจัยไปในทิศทางเดียวกัน ปัญหาการกินอยู่แบบไม่ระวังหรือ ”วิถีชีวิตแบบเสี่ยงพิษและเคมี” ของคนไทยขณะนี้จะเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องแก้ไข โดยการให้ความรู้ กับคนไทยทั้งประเทศ
อย่างไรก็ดีการมีอยู่ของ แมงกานิส และ อาร์ซีนิกหรือ สารหนู ในเลือดและปัสสาวะนั้น ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกมากจนเกินไป เพราะสารหนูสามารถขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะได้อย่างรวดเร็ว เมื่อร่างกายมีความสมบูรณ์แข็งแรง แมงกานีสส่วนเกิน ร่างกายก็สามารถขับออกทางปัสสาวะได้บางส่วน หน่วยงานที่เข้าไปให้ความรู้และตรวจเก็บตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ควรให้ข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านโดยนักวิชาการเฉพาะด้าน เพื่อป้องกันการได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ทำให้เกิดความเข้าใจที่สับสน ส่วนประชาชนผู้มีความสงสัยในปัญหาเรื่องสุขภาพหรือมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างถูกวิธี
ด้าน นายปกรณ์ สุขุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับสัมปทานการทำเหมืองทองในพื้นที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของระดับของแมงกานิส และ สารหนู ในเลือดของประชาชนพื้นที่รอบเหมืองทองจะไม่ได้เกิดขึ้นจากกระบวนการทำเหมืองทองก็ตาม แต่ด้วยความเป็นเหมือนญาติพี่น้อง ครอบครัวเดียวกัน อีกทั้งยังความเป็นคนไทยด้วยกัน ทาง อัคราฯ ก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านของการดูแลสุขภาพ การสนับสนุนและส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนพื้นที่รอบเหมืองให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทางบริษัทฯให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับสวัสดิภาพของบุคลากร ประชาชนในพื้นที่ และ สิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยรอบเหมือง ส่วนของพนักงานก็มีการตรวจสุขภาพเพื่อวัดผลและติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่มาผ่านมาจากการตรวจสุขภาพหาสารต่างๆ ในร่างกายของพนักงานเหมืองจำนวน 598 คน รวมถึงแมงกานีสและสารหนู ได้ผลเป็นที่น่าพอใจและมีระดับต่ำกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ ซึ่งผลการตรวจเหล่านี้เราได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน
สำหรับขั้นตอนต่อไปในการดำเนินการเพื่อสร้างความกระจ่างให้เกิดขึ้นกับสังคมในกรณีข่าวที่เกิดขึ้น และ เพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาวิจัยสำหรับการเผยแพร่ให้เกิดความสบายใจของประชาชนพื้นที่รอบเหมืองทองถึงสาเหตุและการแก้ไขปัญหา ทางบริษัทฯ จะดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อศึกษาหาถึงสาเหตุ การป้องกัน และแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยเชิญตัวแทนจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาเป็นคณะทำงานร่วมกัน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น