สถาบันฯสิ่งทอ ตั้งเป้ายกระดับอุตสาหกรรมไทย หวังเป็นศูนย์รวมการออกแบบแฟชั่นสิ่งทอของโลก ปี 2021

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม เผยยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ตั้งเป้ายกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่การเป็นศูนย์รวมการออกแบบแฟชั่นสิ่งทอในปี 2564 และสร้างแบรนด์ไทยระดับโลก ปี 2573 ผ่านแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรม 3 ระยะ คือ ระยะแรกในปี 2559 จัดตั้งให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้านการค้าและการจัดหาสิ่งทอแฟชั่น ระยะที่ 2 จัดตั้งให้ไทยเป็นศูนย์รวมการออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ระดับโลกในปี 2564 และระยะที่ 3 ปี 2573 ผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำวัฒนธรรมแฟชั่นและการออกแบบสิ่งทอของโลก  

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซอยตรีมิตร ถนนพระรามกรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 – 9 ต่อ 739,700 หรือทางเว็บไซต์ www.thaitextile.org/tfs2014  

 

นายปราโมทย์  วิทยาสุข ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นศูนย์กลางดำเนินงานส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของประเทศไทยทั้งระบบ ดังนั้นการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นจึงเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากอุตสาหกรรมสิ่งทอและธุรกิจแฟชั่นไทย ส่งผลต่อการพัฒนาโครงสร้างสู่อุตสาหกรรมใหม่ ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และองค์ความรู้ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และความได้เปรียบในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศด้านอุตสาหกรรม จำเป็นต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับศักยภาพพื้นฐานของประเทศ  ตั้งแต่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ตลอดจนอุตสาหกรรมที่ใช้ในการออกแบบและสร้างสรรค์  และก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตสิ่งทอของโลก โดยมีเอเชียเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มของโลก และมีอาเซียนเป็นภูมิภาคการผลิตและการบริโภคที่สำคัญในอนาคต อุตสาหกรรมไทยจึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาต่าง ๆ ให้สอดคล้องกัน

นายปราโมทย์  กล่าวต่อว่า ได้กำหนดแผนแม่บทในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยคู่ขนานไปกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์  ใน 2 แนวทาง คือ 1. พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปสู่ชีวภาพเต็มรูปแบบ (Bio-Based) และ 2. พัฒนาสู่เทคโนโลยีขั้นสูงและการสร้างสรรค์ (Hightech & Creative) โดยมีเป้าหมายระยะยาว ปี 2573 คือ มุ่งสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมในระดับสากลอย่างยั่งยืน (Sustainability) จากการใช้วัตถุดิบที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงทางชีวภาพ และ สร้างการรับรู้และยอมรับตราสินค้าไทยในระดับโลก 

 

ด้าน นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสิ่งทอนั้น มีการกำหนดเป็นแผนระยะยาว 15 ปี ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปี 2573 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ โดยแบ่งเป็นเป้าหมาย 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ในปี 2559 จัดตั้งให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้านการค้า การจัดหาสิ่งทอแฟชั่น (Sourcing and Trade from Thailand) เป็นการขยายขอบเขตอุตสาหกรรมสู่ผู้ประกอบการระดับภูมิภาค (ASEAN Business) เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าให้เป็นศูนย์กลางการทำธุรกิจของอาเซียน 

ระยะที่ 2 ปี 2564 จัดตั้งให้ไทยเป็นศูนย์รวมการออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ระดับโลก (Design and Development Solution for International Brands) เนื่องจากมีความพร้อมในด้านสาธารณูปโภคและบุคลากรที่เหมาะสมในการตั้งเป็นสำนักงานใหญ่และสำนักงานภูมิภาค ตลอดจนมีการจัดจำหน่ายสินค้าต่างๆ ผ่านไทยไปยังภูมิภาคเอเชีย อาเซียน และเอเชียใต้ 

และระยะที่ 3 ปี 2573 ผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำวัฒนธรรมแฟชั่น และการออกแบบสิ่งทอของโลก (Global Fashion Culture Influence) โดยการนำทุนวัฒนธรรมร่วมสมัยที่มีความเข้มแข็ง บูรณาการร่วมกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การพัฒนาบรรลุเป้าหมายโดยสมบูรณ์ จึงมีการกำหนดตำแหน่งการตลาดของอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นไทยให้เป็นประเทศคู่ค้าที่ช่วยสร้างผลกำไรด้วยสินค้าและบริการที่ใหม่อยู่เสมอ โดยมีความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำ ผ่านแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาทั้ง 4 ด้าน ดังนี้ 

1. การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้เข้มแข็งและยั่งยืน ยกระดับห่วงโซ่อุปทานสู่การออกแบบด้วยเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ทั้งระบบ อาทิ การพัฒนาผู้ประกอบการ จัดตั้งกองทุนปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีและทักษะ ขยายระบบงานในธุรกิจ ฯลฯ

2. การพัฒนาความสามารถในการตอบสนองตลาดของห่วงโซ่อุปทานที่ขยายสู่ภูมิภาค ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาทิ การประกาศพื้นที่ Fashion Industry Zone พัฒนาเขตเศรษฐกิจแฟชั่นครบวงจรที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงกับแหล่งผลิตของภูมิภาค ฯลฯ

3. การพัฒนาตำแหน่งทางการตลาด สร้างเวทีการออกแบบและการค้าระดับโลกในประเทศไทย โดยใช้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการนำการค้าการลงทุน การผลักดันมาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเป็นมาตรฐานอ้างอิงระดับภูมิภาค บูรณาการทุนวัฒนธรรมร่วมสมัยด้านแฟชั่นและสิ่งทอ กับผลิตภัณฑ์และบริการวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ อาหาร กีฬา ภาพยนตร์ และอื่นๆ ไปยังประเทศในอาเซียน รวมถึงจัดตั้งให้มีงานแสดงสินค้าที่สำคัญของโลกในไทย (World Class Market Place)

4. การยกระดับโครงสร้างทุนมนุษย์ การพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะหลากหลายด้านความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี ด้วยการยกระดับกระบวนการพัฒนาผู้สอนในสถานประกอบการ บูรณาการองค์ความรู้ที่ทันสมัยระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคการศึกษา โดยการส่งเสริมทุนวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาและอุตสาหกรรม พัฒนาผู้บริการระดับกลางและการบริหารงานอย่างมืออาชีพ รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมที่ดีแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและบุคลากรในอนาคต โดยการส่งเสริมบุคลากรต้นแบบในอุตสาหกรรมให้เป็นที่ยอมรับ

 

 

นางสุทธินีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันฯ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วยเส้นใยต้นแบบและการออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิค แล้วเสร็จพร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์เส้นใยธรรมชาติสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอเทคนิค” (Technical Textiles) ครั้งแรก โดยที่ได้นำเอาวัตถุดิบเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรที่มีปริมาณมากจำนวน 3 ประเภท อันได้แก่ ใยสับปะรด เปลือกผลตาล และใยหมาก มาต่อยอดเป็นวัตถุดิบเส้นใยคุณภาพในอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยสามารถพัฒนาเส้นใยได้  4 ชนิด คือ “ใยตาล” ด้วยเส้นใยที่มีรูกลวง สามารถใช้เป็นฉนวนกันความร้อนและเย็นได้ดี อีกทั้งยังสามารถคืนรูปได้ทันทีหลังการใช้งาน “ใยสับปะรดแบบลดทอนคลื่นเลียง” โดยการนำเส้นใยจากใบสับปะรดผสมกับเส้นใยพอลิเอสเทอร์ ด้วยคุณลักษณะเส้นใยที่มีความยาว และละเอียด จึงช่วยดูดซับเสียงได้ดี “ใยสับปะรดแบบใหม่” เป็นเส้นใยที่มีความแข็งแรง ทนต่อแรงกระแทกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปใช้ในการผลิตคอมพอ  สิทแบบต่าง ๆ และ “ใยหมาก” เป็นเส้นใยที่มีความหนาแน่นต่ำ น้ำหนักเบา ซึมซับน้ำได้ดีและมีรูพรุน จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตรและยานยนต์ โดยสามารถพัฒนาได้ทั้งหมด 12 ผลิตภัณฑ์ อาทิ ถุงนอนจากเส้นใยตาล เส้นใยสับปะรดสู่การพัฒนาขึ้นรูปเป็นเรือไฟเบอร์ และเส้นใยหมากสู่วัสดุทดแทนโพลีเอสเทอร์ เป็นต้น 

สำหรับ ผลการประกวดออกแบบสิ่งทอเชิงสร้างสรรค์หรือ Creative Textiles Award 2014 ที่มุ่งผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ ร่วมกับงานวิจัยการพัฒนาเส้นใยจากวัตถุดิบภาคการเกษตรสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอ ภายใต้ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบภาคการเกษตรด้วยการพัฒนาเส้นใยธรรมชาติสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอ” ในแนวคิด Green Textiles และ Innovative Textiles สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอเชิงสร้างสรรค์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ  ผลงาน “ In  the  Wood ”  สร้างสรรค์โดย นายภราดร  เกตุรัตน์  ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท ซึ่งผลงานดังกล่าว ได้แรงบันดาลใจมาจากลวดลายธรรรมชาติจากลายไม้ ทั้งนี้ จากผลงานที่นักออกแบบรุ่นใหม่ได้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจ ในการผลิตผลงานมาตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าศักยภาพของนักออกแบบไทยสามารถก้าวสู่เวทีโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ ประกอบกับมีพลังความคิดสร้างสรรค์ที่ไร้ขีดจำกัด สถาบันฯ สิ่งทอ จึงมีความยินดียิ่งที่จะสนับสนุนและผลักดันให้นักออกแบบไทยสามารถสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบจากนวัตกรรมเส้นใยธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ รวมถึงเปิดพื้นที่ให้นักออกแบบไทยได้แสดงศักยภาพของตนเองได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขีดความความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในตลาดโลก 

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 – 9 ต่อ739,700 หรือ www.thaitextile.org/tfs2014

 

###

 







ความคิดเห็น