คณะผู้แทนการค้าต่างประเทศเยือนไทยไม่ขาดสาย ล่าสุดสมาคมผู้นำเข้าอาหารทะเลออสซี่ชมแหล่งผลิตประมงไทย เพิ่มความมั่นใจคุณภาพ เผยวูดเวิร์ธเจรจาการค้าคาดสั่งซื้อเพิ่ม 3 เท่า

          นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้กำชับให้กระทรวงพาณิชย์ทำความเข้าใจคู่ค้าถึงสถานการณ์ในเมืองไทยตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา และให้เร่งผลักดันการค้าการส่งออกให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งกรมฯได้สั่งการไปยังสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สคร.)ทั่วโลก โดยเฉพาะการจัดผู้ซื้อรายใหญ่เข้ามาเยือนประเทศไทย เพื่อแสดงถึงศักยภาพและมาตรฐานวัตถุดิบ เทคโนโลยีและฝีมือแรงงานคุณภาพ จนสามารถพัฒนาสินค้าและบริการให้เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ รวมถึงความพร้อมในการการเป็นศูนย์กลางทางการค้า เพื่อรองรับการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน(เออีซี)

ทั้งนี้ล่าสุดสคร. ณ นครซิดนีย์นำคณะผู้แทนการค้าออสเตรเลีย จากสมาคมผู้นำเข้าอาหารทะเลออสเตรเลีย สนใจสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปของไทยจำนวนมาก เนื่องจากผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการ ประกอบกับสินค้าประมงของออสเตรเลียส่วนใหญ่ผลิตเพื่อการส่งออก ออสเตรเลียจึงต้องนำเข้าสินค้าเพื่อบริโภคภายในประเทศ  ในช่วง 4 เดือนแรก(ม.ค.-เม.ย.)ของปีนี้ ออสเตรเลียมีการนำเข้าอาหารทะเลขยายตัวถึงเกือบ 17% ซึ่งแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน นิวซีแลนด์ เวียดนามและไทยตามลำดับ โดยนำเข้าจากจีนสูงกว่า 72และเวียดนาม 44% ในขณะที่นำเข้าจากไทยลดลง 5%

“การนำเข้าสินค้าไทยยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นไปในทิศทางบวกและไทยมีศักยภาพในการส่งออกอาหารทะเล ดังนั้นการส่งเสริมการส่งออกด้วยการพาไปเยี่ยมชมตลาดที่จ.สมุทรสาครและสุราษฎร์ธานี (ฟาร์มกุ้ง) และได้หารือถึงการใช้แรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมประมงของไทยด้วย เพื่อให้ผู้ซื้อเกิดความมั่นใจ  และเสริมสร้างภาพลักษณ์สินค้าอาหารทะเลไทย”นางนันทวัลย์ กล่าว

สำหรับผลการเปิดเจรจาการค้าระหว่างผู้ประกอบการไทยกับบริษัท วูลเวิร์ธ ลิมิเต็ด จำกัด ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าวูลเวิร์ธ ห้างค้าปลีกอันดับ 1 ของออสเตรเลีย ที่มีสาขาในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์กระจายกว่า 3,000 สาขาว่า วูลเวิร์ธซื้อสินค้าจากประเทศไทยปีละราว 80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คาดว่าการเปิดการเจรจาการค้าครั้งนี้จะทำให้การส่งออกในช่วง 1 ปีจากนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า หรือ ราว 240 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ความคิดเห็น