โลจิสติกส์การค้า : อัมพวัน พิชาสัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดสัมมนาเรื่อง “เสริมทัพ ขับเคลื่อนโลจิสติกส์ไทยสู่ตลาดการค้าโลก” เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจและเวิร์คช้อปผู้ส่งออกและผู้ประกอบการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)
*******************************************
จับสัญญาณการค้าในอนาคต ถึงเวลาผู้ส่งออก-ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ปรับตัว แข่งขับสร้างระบบเครือข่ายเข้มแข็งรองรับการเปิดAEC สภาเรือฯชี้นำองค์ความรู้มาใช้ ก่อนโอกาสหลุดลอย
นางอัมพวัน พิชาสัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการสัมมนาเรื่อง “เสริมทัพ ขับเคลื่อนโลจิสติกส์ไทยสู่ตลาดการค้าโลก” โดยมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนรายใหญ่ร่วมเป็นวิทยากร อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เจริญโภคภัณฑ์ โตโยต้าเชพ เป็นต้น เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจและเวิร์คช้อปผู้ส่งออกและผู้ประกอบการในสาขาโลจิสติกส์ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ในปลายปี 58 อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต
“ต้นทุนโลจิสติกส์ถือเป็นอุปสรรคประการหนึ่งในการทำการค้า จากการดำเนินงานของกรมฯร่วมกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องพบว่า ต้นทุนได้ลดลงพอสมควรจากประมาณปี 2550 ราว 19% ปัจจุบันเหลือประมาณ 14 % ซึ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะอยู่ในราวไม่เกิน 10% เท่านั้น ดังนั้นการสัมมนาฯต้องการให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และผู้ส่งออกได้พัฒนาองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน แก้ไขปัญหา ลดต้นทุนให้ได้จริง”นางอัมพวัน กล่าวและว่าการเปิดมุมมองในการสร้างโซ่คุณค่าในธุรกิจและการบริการด้วยแนวคิดเชิงกลยุทธ์ พร้อมกับการสร้างเครือข่ายธุรกิจ จะสนองตอบลูกค้าที่มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก ภายใต้สภาวการณ์ผันผวนจากปัจจัยต่างๆ และแนวโน้มในอนาคตที่จะส่งผลกระทบต่อโซ่อุปทานโลก
ปัญหาภัยแล้ง สถานการณ์การเมือง และวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้ประกอบการต้องประสบกับสภาวการณ์ชะงักของโซ่อุปทานในหลายระดับ โลจิสติกส์ของไทยต้องทำการปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในระดับสากล ซึ่งสิ่งที่สำคัญ คือ การสร้างจุดเด่นที่แตกต่าง การเพิ่มคุณค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์และการบริการแก่ลูกค้าทั้งใจปัจจุบันและอนาคต เพื่อสร้างโซ่คุณค่าตั้งแต่กระบวนการผลิต การส่งออกและการบริการ อันจะก่อให้เกิดความได้เปรียบทางการค้าที่เหนือกว่าคู่แข่ง ในแต่ละกระบวนการต้องมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน ส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผล นำไปสู่การสร้างความพึงพอใจสูงสุดเมื่อสินค้าและบริการถึงมือลูกค้า
สำหรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2556 – 2560) ตามข้อตกลง “เออีซี บลูพริ้นต์”ในความร่วมมือของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของทุกประเทศ กรมฯได้มุ่งให้ความสำคัญกับการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการด้านการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าที่ยั่งยืน ด้วยการเชื่อมโยง (Connectivity) การสื่อสาร (Communication)และสร้างความร่วมมือซึ่งกันและกัน (Collaboration)ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่สำคัญในการเข้าถึงตลาดการค้าโลกได้ซึ่งจากการวิเคราะห์แผนยุทธศาสตร์ฯจึงกำหนดเป็นกลยุทธ์ไว้ 3 ประเด็น คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโซ่อุปทาน , การพัฒนาบริการขนส่งและเครือข่ายโลจิสติกส์ตามเส้นทาง และการส่งเสริมการพัฒนาบริการและขยายเครือข่ายของผู้ให้บริการโลจิสติกส์
นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การค้า คือ สิ่งสำคัญของโลจิสติกส์ ดังนั้นผู้ส่งออกและผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต้องรู้เรื่องข้อตกลงทางการค้าที่ไทยได้ หรือ เสียประโยชน์ เพื่อการบริหารจัดการวัตถุดิบ การผลิตและบริการ ของห่วงโซ่มูลค่าอนาคต และห่วงโซ่มูลค่าทั่วโลก ขณะที่การส่งออกในช่วงไตรมาแรกติดลบ นับเป็นสัญญาณเตือนภัยล่าสุด จึงขอให้บริหารจัดการเรื่อง สภาพคล่องของธุรกิจในภาวะไม่ปกติเป็นลำดับแรกๆ
“คาดว่าในไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไปจะเห็นทิศทางการส่งออกที่ชัดเจนขึ้น จากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ กระทบต่อการเจรจาทางธุรกิจ ต้นทุนและระยะเวลาการขนส่งที่เพิ่มขึ้น การดำเนินงานของรัฐบาลในการเจรจาข้อตกลงทางการค้าต้องหยุดชะงัก ความล่าช้าในการอนุมัติโครงการที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุน การนำเข้าที่ลดลง กระทบต่อปริมาณตู้สินค้าสำหรับการส่งออกไม่เพียงพอความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมันในตลาดโลก จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ การปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ลงอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐ และสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองในเวทีโลกจากการที่รัสเซียต้องการผนวกไครเมีย เข้าเป็นส่วนหนึ่งจนเป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป(อียู)ประกาศจะคว่ำบาตรรัสเซีย”นายนพพร กล่าว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น