กทปส. เดินหน้าพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมในระยะยาว กับ 10 โครงการด้านงานวิจัย ภายใต้กรอบวงเงิน 80 ล้านบาท

กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. เดินหน้าตามกรอบภารกิจ นโยบายการดำเนินงาน ในการจัดสรรเงินกองทุน เพื่อมุ่งสู่การพัฒนา สนับสนุน และส่งเสริมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะในระยะยาว โดยได้ดำเนินการลงนามการรับทุนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน การจัดสรรเงินจากกองทุนฯ (ประเภทที่ 1) ประจำปี 2556 ที่ได้รับการเห็นชอบผ่านการตัดสินจากคณะกรรมการของ กทปส. ทั้งสิ้น 10 โครงการ อนุวัติวงเงินทั้งสิ้น 80 ล้านบาทพร้อมมุ่งพัฒนาผลงาน ส่งเสริมศักยภาพของนักวิจัย นำมาพัฒนาประเทศในอนาคตตามกรอบแนวทางสัญญาร่วมกันระหว่าง กทปส. และทั้ง 8 หน่วยงาน

 

พลอากาศเอก ธเรศ  ปุณศรี ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการ    กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์  และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือ กทปส. กล่าวว่า กทปส. จัดตั้งขึ้นในสำนักงาน กสทช.ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และมาตรา 52 (2) โดยภารกิจ นโยบายของ กทปส. ส่วนหนึ่งคือ ปฏิบัติหน้าที่ เดินหน้าผลักดันผลงานวิจัย ผลิตชิ้นงานในการพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในสังคมส่วนรวม โดยผลงานต้องเกี่ยวเนื่องในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม อันมุ่งประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ซึ่งในอนาคตนับจากนี้ทั้ง 3 ส่วน (วิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคม) จะเป็นส่วนในการขับเคลื่อนของประเทศ และเป็นแรงผลักดันที่สำคัญให้เกิดการเชื่อมต่อ ติดต่อสื่อสาร และเข้าถึงภาคประชาชน ภาคธุรกิจ หรือแม้กระทั้งภาครัฐ ดังนั้น กทปส. จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการวางฐานที่มั่นคงของทั้ง 3 ส่วนดังกล่าวเป็นสำคัญ

 

 พลอากาศเอก ธเรศ  กล่าวอีกว่า กิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต่อยอดสู่สาธารณะ เข้าถึงภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต้องอาศัยการพัฒนาเกิดผลงานจากภายในประเทศ มีบุคลากร นักวิจัย นักพัฒนาที่มีศักยภาพ เพื่อลดต้นทุนในการนำมาพัฒนาประเทศในระยะยาว และประการสำคัญต้องได้รับแรงสนับสนุนจากหน่วยงาน สถาบันต่างๆ อย่างเป็นระบบ มีการวางแผนที่ดี ดังนั้น ในครั้งนี้การเดินหน้าพัฒนาผลงานวิจัยจากโครงการทั้งหมดกว่า 200 โครงการ กทปส. ได้คัดเลือกมาแล้วเหลือเพียง 10โครงการจาก 8 หน่วยงาน ที่เล็งเห็นแล้วว่าจะเกิดประโยชน์ความรู้ อันเป็นผลดีต่อประเทศในอนาคต โดยวางกรอบวงเงินในการพัฒนาทั้งหมด 10 โครงการที่ 80 ล้านบาท ในระยะเวลา ตั้งแต่ 6 เดือน - 24 เดือน

 

 

ในการพัฒนาผลงานวิจัย กทปส. ไม่ได้มองประโยชน์เพียงด้านเดียว แต่เรามองครอบคลุมทุกกด้าน ตั้งแต่ ผลงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนำไปสู่การพัฒนาระบบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม เกิดการเพิ่มพูนประสิทธิภาพของบุคลากร นักวิจัย นักพัฒนาของไทย มีความคิดสร้างสรรค์ เกิดแนวทางต่อยอดผลงานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคต เกิดการสนับสนุน ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน องค์กร สถาบัน ซึ่งนำเอาจุดแข็งของแต่ละหน่วยงานมาผนึกกำลัง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาในภาพรวมทั้ง 3 ส่วนและประการสำคัญงานวิจัยทั้งหมดที่ได้รับทุนในการพัฒนาต้องเกิดผลงานที่จะนำไปสู่การไปใช้ได้จริง สามารถต่อยอดในการนำไปพัฒนาผลงาน พัฒนาส่วนกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมในอนาคต กอปรกับ กทปส. ยังให้การสนับสนุนในอนาคตหากมีการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา อันเป็นประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ

 

นายฐากร  ตัณฑสิทธ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในการคัดเลือกผลงานที่โดดเด่นในปี 2556 นี้ ทางคณะกรรมการได้คัดเลือกผลงานทั้งสิ้น 10 ผลงานจาก 8 หน่วยงานโดยสามารถแบ่งผลงานที่ได้รับคัดเลือกออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้ด้านกิจการกระจายเสียง ด้านกิจการโทรทัศน์ และด้านโทรคมนาคม จำนวนทั้งสิ้น 10 โครงการ ประกอบด้วย ด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ มีผลงานที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนทั้งสิ้นจำนวน 6 โครงการ ดังนี้

1.
โครงการสายอากาศแถบความถี่กว้างที่มีอัตราการขยายสูงสำหรับการรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภาคพื้นดินที่ห่างไกลจากสถานีส่งสัญญาณ วงเงินงบประมาณ 760,000 บาท ระยะเวลา 12 เดือน ผู้รับผิดชอบโครงการคือ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชศรีมา
2.
โครงการแนวทางการออกแบบ(Engineering Design Guide) ผลิตภัณฑ์เครื่องรับ และแปลงสัญญาณคลื่นโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (Digital Set-Top Box) ของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตัล กสทช. มส. 4002-2555 พร้อมจัดทำแม่แบบที่ได้รับการทดสอบจากห้องปฏิบัติการอิเล็กทรอนิกส์แล้ว (Certified Proto Type) งบประมาณ 7,468,600 บาท ระยะเวลา 10เดือน ผู้รับผิดชอบโครงการคือ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)
3.
โครงการการจัดทำจดหมายเหตุ 60 ปี โทรทัศน์ไทย งบประมาณ 4,815,000 บาท ระยะเวลา 12 เดือน ผู้รับผิดชอบโครงการคือ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4.
โครงการฝึกอบรมการผลิต Backpacking Journalism (นักข่าวสะพายเป้) สำหรับนักข่าวโทรทัศน์ งบประมาณ 2,044,600 บาท ระยะเวลา 12 เดือน ผู้รับผิดชอบโครงการคือ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
5.
โครงการพัฒนาผู้ผลิตรายการระดับท้องถิ่นและภูมิภาค และผลิตรายการ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ให้เกิดการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ในระดับท้องถิ่น และภูมิภาค งบประมาณ5,400,000 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ผู้รับผิดชอบโครงการคือ มูลนิธิสำรวจโลก
6.
โครงการงานสัมมนาปลายปี เรื่อง "วาระดิจิทัลแห่งอาเซียนและการเตรียมพร้อมของภาควิทยุและโทรทัศน์ในประเทศไทย"  งบประมาณ 963,000 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ผู้รับผิดชอบโครงการคือ ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ด้านโทรคมนาคม มีผลงานที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนทั้งสิ้นจำนวน 4 โครงการ ดังนี้

1.
โครงการสื่อลามกบนอินเทอร์เน็ต พัฒนาการของตลาดสื่อลามก และความถดถอยของสังคมไทยงบประมาณ 1,866,829 บาท ระยะเวลา 14 เดือน ผู้รับผิดชอบโครงการคือ สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
2.
โครงการพัฒนาระบบตรวจสอบความถี่วิทยุย่านความถี่VHF โดยการควบคุมระยะไกลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต งบประมาณ 1,508,700 บาท ระยะเวลา18 เดือน ผู้รับผิดชอบโครงการคือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
3.
โครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี งบประมาณ 5,371,400 บาท ระยะเวลา 18 เดือน ผู้รับผิดชอบโครงการคือสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
4.
โครงการพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมจังหวัดร้อยเอ็ด งบประมาณ 2,333,700 บาท ระยะเวลา 12 เดือน ผู้รับผิดชอบโครงการคือ สมาคมผู้บริโภคร้อยเอ็ด

 

“ทั้งหมดถือเป็น 10 โครงการที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน การจัดสรรเงินเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ประจำปี 2556 โดยมุ่งที่ประโยชน์ต่อภาคการศึกษา หน่วยงานของรัฐและเอกชน รวมภาคประชาชนในอนาคต ทั้งในด้านสังคมและคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงด้านต่างๆ  เปิดโอกาสให้มีศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง พัฒนาเครื่องมือการวิจัย ต่อยอดในด้านต่างๆ เกิดการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในเชิงธุรกิจ อุตสาหกรรมทุกภาคส่วน และประชาชนทั่วไปได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง เกิดการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร นักวิจัย นักพัฒนาในเชิงบูรณาการ เพื่อเตรียมความพร้อมประเทศไทยสำหรับการพัฒนาในด้านกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หวังเกิดผลงานโดยคนไทย ลดการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ และเป็นการยกระดับจุดยืนประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในอนาคตอันใกล้”นายฐากร กล่าวสรุป

ความคิดเห็น