ไอเดียร้านค้าเพื่อผู้สูงอายุรับทรัพย์ในญี่ปุ่น กระแสธุรกิจมาแรง ชี้ปี 2020 เกือบ 1 ใน 3 เป็นผู้ชรา ทั้งแบบช่วยตัวเองไม่ได้ กับกลุ่มหัวใจแอ็คทีฟ ห้างดัง เซเว่น ร้านยาเล็งเพิ่มสาขา
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สคร.) ณ กรุงโตเกียว ถึงตลาดร้านขายปลีกในประเทศญี่ปุ่นว่า ได้รับตัวตามโครงสร้างประชากรญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากประชากรทุก 4 คนจะมีผู้สูงอายุ 1 คน(เกิน 65 ปี) และคาดว่าในปี 2563 จะมีอัตราส่วนผู้สูงอายุถึงกว่า 29% โดยเฉพาะร้านค้าปลีก ทั้งร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา ร้านอาหารญี่ปุ่นและห้างสรรพสินค้า จึงหันมาจับธุรกิจกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ต้องแยกทำตลาด 2 กลุ่มให้ชัดเจน
“ตลาดผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น เป็นตลาดที่ได้รับการจับตามองอย่างยิ่ง และบริษัทต่างๆ ได้ขยายบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุ แต่ต้องระลึกไว้เสมอว่า ตลาดสำหรับผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่นจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ตลาดสำหรับผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ซึ่งสินค้าศักยภาพจะเป็นอุปกรณ์สำหรับดูแลผู้สูงอายุ เช่น ผ้าอ้อม รถเข็น เป็นต้น กับ ตลาดสำหรับผู้สูงอายุยังสามารถดูแลตัวเองได้ ทันสมัยหัวใจแอ็คทีฟ มีการรับประทานอาหารอร่อยๆ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่สีสันและมีความสามารถในการจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าเอง ซึ่งเป็นตลาดที่ไทยสามารถพัฒนาสินค้าไทยและนำมาจำหน่ายได้ และเป็นจำนวนผู้สูงอายุหลักของญี่ปุ่น”นางนันทวัลย์ กล่าว
ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยต้องพัฒนาสินค้าให้เหมาะกับตลาดผู้สูงอายุญี่ปุ่น โดยหลักในการซื้อสินค้าของชาวญี่ปุ่น ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.ดีไซน์ของสินค้า ชาวญี่ปุ่นจะพิจารณาก่อนว่า ชอบหรือไม่ชอบสินค้าชิ้นนั้น ซึ่งแบบดีไซน์จะเป็นตัวกำหนดความชอบของชาวญี่ปุ่น 2.คุณภาพของสินค้า และความเข้ากันได้กับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่นด้วยไลฟ์สไตล์แบบญี่ปุ่น
นายไผท สุขสมหมาย ผอ.สคร. ณ กรุงโตเกียว กล่าวว่า การปรับตัวที่น่าสนใจของร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ(คอนวีเนียนสโตร์) ห้างสรรพสินค้า อาทิ ห้างสรรพสินค้าโตเกียว(Tokyu)ร่วมมือกับ โตเกียวแอนด์ คอร์ปอเรชั่น(Tokyu Land Corporation) ให้บริการขายสินค้าถึงที่ให้แก่ผู้สูงอายุ ณ บ้านพักผู้สูงอายุบริเวณโตเกียวและจังหวัดคานากาวาจำนวน 10 แห่ง ทั้งนี้ บริษัทมีแนวคิดว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้านพักผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่ร่ำรวย แต่ไม่สะดวกในการเดินทางไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้า จึงกำหนดจัดกิจกรรมขายสินค้า ณ บ้านพักผู้สูงอายุ ปีละ 2 ครั้ง ช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง โดยส่งพนักงานขายจากห้างประมาณ 10 คน มาบ้านพักผู้สูงอายุ และแนะนำสินค้าตามฤดูกาลและตามความต้องการของผู้บริโภค
ทั้งนี้ สินค้าที่นำมาเสนอขาย ประกอบด้วย เสื้อผ้า เครื่องประดับเครื่องสำอาง ของตกแต่งเล็กๆน้อยๆ วิกผม เป็นต้น โดยปัจจุบันครอบคลุมสินค้าทั้งสิ้น 200-300 ชนิด ซึ่งบริษัทยังตั้งเป้าหมายที่จะขยายการให้บริการนี้ ไปยังบ้านพักผู้สูงอายุในจังหวัดอื่นๆ รอบโตเกียวเช่น ชิบะ และไซตะมาด้วย
ร้านสะดวกซื้อ โดยเซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของร้านเซเว่น อีเลเว่น ที่ปัจจุบันมี 18,831 สาขาและกำหนดจะเปิดอีก 1,600 สาขาในปี 2557 ซึ่งจะมีสาขากว่า 17,000 สาขา โดยเน้นการเปิดรอบเมืองใหญ่ 40% เช่น โตเกียว โอซากา และนาโกยา ร้านเซเว่นได้เริ่มเน้นกลุ่มผู้สูงอายุและสตรีกำลังทำงาน จะเพิ่มสินค้าประเภทรีทอร์ทเพาซ์(retort pouch) คือ บรรจุภัณฑ์อาหารชนิดนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการสินค้าอาหารที่อร่อยและสะดวกในการรับประทาน เพิ่มบริการส่งสินค้าอุปโภคบริโภคถึงที่พัก บริการขอสำเนาทะเบียนบ้าน เป็นต้น ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมา มีกลุ่มผู้สูงอายุใช้บริการเพิ่มขึ้น 2 เท่า
บริษัท ซัน ดรัก(Sun Drug) ซึ่งเป็นเชนร้านขายยาอันดับ 2 ของญี่ปุ่น เปิดร้านสะดวกซื้อสำหรับผู้สูงอายุ ณ หน้าสถานีรถไฟในรูปแบบร้านสะดวกซื้อทั่วไป เช่น อาหารปิ่นโต สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่มีจุดเด่น คือ 60% ของสินค้าในร้านจะเป็นสินค้าประเภทยาและอาหารเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ราคาสินค้าขายในร้านจะเป็นราคาเดียวกับที่ขายในร้านขายยา หลายรายการยังมีราคาต่ำกว่าร้านสะดวกซื้อทั่วไป 20-30% จึงเหมาะกับผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งบริษัทฯนี้ได้ตั้งเป้าเปิดร้านแบบนี้ให้ได้ 10 ร้านใน 1 ปี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น