WTOเผยการค้าโลกถูกวางกรอบภายใต้ปัจจัยเศรษฐกิจ การเมือง นวัตกรรม รูปแบบการผลิต-พฤติกรรมการบริโภคที่ปรับเปลี่ยน

WTOเผยการค้าโลกถูกวางกรอบภายใต้ปัจจัยเศรษฐกิจ การเมือง นวัตกรรม รูปแบบการผลิต-พฤติกรรมการบริโภคที่ปรับเปลี่ยน ชี้อนาคตอันใกล้การค้าระหว่างประเทศเร่งเพิ่มโยงห่วงโซ่อุปทาน  ตอกย้ำเอเชียมีบทบาทเด่นชัดขึ้น ท่ามกลางความท้าทายจากการค้าแบบพหุพาคี อิงผลประโยชน์-หลักธรรมาภิบาล

นางศรีรัตน์ รัฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาลให้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าโลก ซึ่งอาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและการค้าของไทยนั้น ล่าสุดองค์การการค้าโลก(WTO)ได้รายงานการค้าโลก (World Trade Report) ปี 2013 แจ้งถึงแนวโน้มการค้าของโลกในปัจจุบัน ซึ่งถูกกำหนดโดยปัจจัยทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ตลอดจนถึงการเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและพฤติกรรมการบริโภค และการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ โดยมีสาระสำคัญหลายการ  

“โดยภาพรวมนั้น แนวโน้มหลักทางการค้าที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้ คือ การก่อตัวขึ้นของห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ การรวมกลุ่มในระดับภูมิภาค การเติบโตของธุรกิจภาคบริการ การเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี(NTBs) ความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร การทวีความสำคัญของประเทศกำลังพัฒนา และความเชื่อมโยงระหว่างการค้า การจ้างงาน และประเด็นทางสิ่งแวดล้อม”นางศรีรัตน์ กล่าวและว่า       สิ่งสำคัญในการรับมือกับความท้าทายต่างๆ คือ การสร้างความร่วมมือทางการค้าแบบพหุพาคี ที่จะต้องรักษาสมดุลของผลประโยชน์ทางการค้ากับการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล

               สำหรับหัวข้อสำคัญ อาทิ แนวโน้มการค้าระหว่างประเทศ มีทิศทางที่จะเร่งลดต้นทุนการขนส่งและต้นทุนการสื่อสารลงอย่างมาก มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบการค้าโลก ภาคการค้าบริการจะมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะบทบาทในเชิงการสร้างมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะเอเชีย มีบทบาทต่อการค้าโลกเพิ่มขึ้น เห็นได้จากสัดส่วนการส่งออกระหว่างปี 2523-2554 ที่ขยายตัวจาก 34% เป็น47 และสัดส่วนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจาก 29 เป็น 42%ประเทศกำลังพัฒนากำลังจะแซงหน้าประเทศพัฒนาแล้วในด้านการส่งออกและการเติบโตของ GDP ในบริบทการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการค้า

                  ทั้งนี้อัตราการขยายตัวดังกล่าว มาจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศและความต้องการนำเข้า ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุ การอพยพย้ายถิ่น การพัฒนาทางการศึกษา บทบาทที่เพิ่มขึ้นของแรงงานหญิง และการเติบโตของชนชั้นกลาง, การสะสมทุน การสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยี และการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ สามารถช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้,การแผ่ขยายของเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นในระดับภูมิภาค ซึ่งเชื่อมต่อกันผ่านเครือข่ายการผลิต    ทำให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ นอกจากนี้การสั่งสมองค์ความรู้ยังได้เกิดขึ้นมากในภาคบริการธุรกิจ (knowledge-intensive business services) นอกเหนือเดิมซึ่งเป็นเกิดจากวิจัยและพัฒนา(R&D)ในภาคการผลิต

              นอกจากนี้โครงสร้างการผลิตน้ำมันในอนาคตจะเปลี่ยนไป จากการขุดพบน้ำมันในภูมิภาคอเมริกาเหนือ และการขาดแคลนน้ำในประเทศกำลังพัฒนาจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรของโลก, การพัฒนาสถาบันและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับบังคับใช้ข้อตกลงต่างๆ มีส่วนช่วยลดต้นทุนการค้า และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน, การกำหนดนโยบายในระดับชาติและนานาชาติ เช่น การลดต้นทุนการขนส่ง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง และการเจรจารอบโดฮาห์ในเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า เป็นต้น

รายงานจากWTO แจ้งเพิ่มเติมว่า ในระยะยาว เศรษฐกิจเสรีที่ประกอบด้วยแรงงานที่มีทักษะ ปัจจัยแวดล้อมที่ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจ และนโยบายการปกป้องสังคมที่มีประสิทธิภาพจะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การค้าประสบความสำเร็จมากกว่าการกีดกันทางการค้า ที่ทำไปเพียงเพื่อปกป้องตลาดแรงงานในประเทศในระยะสั้น สังคมโลกกำลังมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน รัฐบาลในประเทศต่างๆ มีแนวโน้มจะใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีต่อธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งการขยายตัวทางการค้าต้องการปัจจัยเสริมจากภาคการเงินและการคลังที่มีเสถียรภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งจะมีผลต่อเนื่องถึงต้นทุนการค้าที่ต่ำ          

ทั้งนี้กรมฯได้แผนงานในปี 2556 และได้ปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้สอดรับกับสถานการณ์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นระยะ แต่ยังอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ในการผลักดันการขยายตัวการส่งออกสินค้าและธุรกิจบริการไทยในเชิงรุก โดยวางกลยุทธ์ไว้ 7 ด้าน อาทิ การพัฒนาและส่งเสริมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในช่วงทางการตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การส่งเสริมการลดต้นทุนและการสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ทางการค้า การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตสินค้าคุณภาพสูง การพัฒนาบุคลากรและระบบข้อมูลการค้าอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

ความคิดเห็น